กองทุนสื่อฯ หนุนสร้างนักสื่อสารรุ่นใหม่ ร่วมแก้วิกฤตเด็กปฐมวัย

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ห่วงวิกฤตเด็กปฐมวัยที่ถูกซ้ำเติมมาตั้งแต่โควิด หนุนใช้ข้อเสนอนโยบาย “3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม” เร่งสร้างความตระหนักในกลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย ก่อนสายเกินไป 

โดยกองทุนสื่อฯ ได้ร่วมกับคณะอนุกรรมการด้านสื่อสารเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย สนับสนุนโครงการ “สื่อเพื่อฟื้นฟูการพัฒนาเด็กปฐมวัย ในวิถีชีวิตใหม่” พร้อมมอบทุนแก่นักศึกษาที่ผ่านการคัดสรรจากโครงการฯ เข้าร่วมกิจกรรมค่ายผลิตสื่อ ซึ่งได้รับความร่วมมือด้านวิชาการจากสถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) จัดการอบรมเวิร์คช็อปพัฒนานักศึกษาเป็น “นักสื่อสารรุ่นใหม่” ให้ทำหน้าที่ผลิตสื่อวิดีโอคอนเทนต์ ชุดฟื้นฟูพัฒนาการเด็กปฐมวัย จำนวน 6 เรื่อง เพื่อส่งมอบให้เครือข่ายสื่อและเครือข่ายพัฒนาเด็กปฐมวัย ร่วมเผยแพร่ไปยังพ่อแม่ผู้ปกครอง ครู สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย และสาธารณชนวงกว้างต่อไป

นางสุภาวดี หาญเมธี ประธานอนุกรรมการด้านสื่อสารเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย ในคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาเป็น “วิกฤตซ้อนวิกฤต” สำหรับเด็กปฐมวัยของประเทศไทย เพราะก่อนหน้านี้สถานการณ์ก็เข้าขั้นวิกฤตอยู่แล้ว โดยพบว่า เด็กปฐมวัย 1 ใน 3 มีพัฒนาการล่าช้า ซึ่งรากของปัญหามาจากครอบครัวอ่อนแอ ขาดความรู้ ทักษะและมีค่านิยมผิดๆในการเลี้ยงดูลูก มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัวและกับเด็กเพิ่มขึ้น พ่อแม่กว่าครึ่งไม่ได้เลี้ยงลูกเอง และที่สำคัญคือใช้มือถือเลี้ยงลูก ทั้งที่ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูป หากเด็กเยาวชนขาดคุณภาพ  สังคมจะรับมือกับอนาคตที่เต็มไปด้วยผู้สูงอายุได้อย่างไร  

อ.ธิดา พิทักษ์สินสุข กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย กล่าวเพิ่มเติมว่า คนสำคัญที่จะช่วยเด็กได้ดีที่สุด คือคนที่ใกล้ชิดเด็กมากที่สุด นั่นคือ พ่อแม่ผู้ปกครองและครู ซึ่งต้องเข้าใจว่า ภาวะการเรียนรู้ถดถอย หรือ Learning Loss จากสถานการณ์โควิดนั้น ไม่ใช่แค่เรียนหนังสือไม่ทัน หากครอบคลุมทุกด้าน ทั้งการถดถอยด้านสติปัญญา ด้านอารมณ์-จิตใจ ด้านร่างกายและสุขภาวะ ด้านสังคมและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น 

ทั้งนี้คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยชี้ว่าคุณลักษณะของเด็กปฐมวัย ที่เสียหายมากที่สุดในช่วงโควิด คือ การมีสมาธิจดจ่อ การอดทนรอคอย การคิดวิเคราะห์ ความรับผิดชอบทำงานให้เสร็จ การตรงต่อเวลา ซึ่งหากคุณสมบัติเหล่านี้เสียหายไปในช่วงปฐมวัย ก็ยากจะพัฒนาให้ดีได้ในช่วงถัดไป ดังนั้น หากไม่เร่งแก้ไขในเรื่องนี้  ยังมุ่งไปเร่งเรียนเขียนอ่าน จะเป็นการแก้ปัญหาที่ผิดทาง เพราะยิ่งจะซ้ำเติมความไม่พร้อมของเด็กให้หนักขึ้นไปอีก

พ่อแม่ผู้ปกครองและครู จึงต้องช่วยให้เด็กมีชีวิตที่มีความสุข ได้เล่น ได้ออกกำลังเต็มที่ ร่าเริงแจ่มใส สร้างสัมพันธภาพที่ดี ไม่มีการใช้ความรุนแรง ให้เด็กมีประสบการณ์การเรียนรู้หลากหลายที่ได้ฝึกคิด วางแผน ลงมือทำและแก้ปัญหา ไม่ปล่อยให้เล่นสื่อหน้าจอจนสมอง ร่างกาย จิตใจเสียหาย ให้เด็กปฐมวัยได้ช่วยตนเองเพื่อสร้างคุณลักษณะที่ดี และคุณค่าในตนเอง และได้ทำกิจกรรมที่ได้ร่วมมือกับคนอื่น เช่น งานบ้าน งานครัว ก็จะค่อยๆ ฟื้นฟูพัฒนาการที่สูญเสียให้กลับคืนมาได้

ทั้งนี้คณะอนุกรรมการด้านสื่อสารเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย ได้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย “ 3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม” ในการฟื้นฟูพัฒนาการเด็กปฐมวัย ประกอบด้วย 

3 เร่ง ได้แก่ 1) เร่งกำหนด “การฟื้นฟูเด็กปฐมวัย” เป็นวาระแห่งชาติ 2) เร่งให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้ปกครอง ครูและสังคม 3) เร่งค้นหา เยียวยา และพัฒนาเด็กปฐมวัยในภาวะเปราะบาง 

3 ลด ได้แก่ 1) ลดการใช้สื่อหน้าจอในเด็กปฐมวัยอย่างจริงจัง 2) ลดความเครียด คืนความสุขแก่เด็กปฐมวัย 3) ลดการใช้ความรุนแรงต่อเด็กปฐมวัย 

3 เพิ่ม ได้แก่ 1) เพิ่มกิจกรรมฟื้นฟูพัฒนาการที่เสียไป กิจกรรมทางกาย การเล่น การอ่านนิทาน 2) เพิ่มสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า 3) เพิ่มศักยภาพ อปท. และกลไกในระบบนิเวศน์ใกล้ตัวเด็ก

กองทุนสื่อฯ และ คณะอนุกรรมการด้านสื่อสารเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย จึงขอความร่วมมือร่วมใจจากภาคีเครือข่ายและหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย ช่วยกันเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สื่อวิดีโอทั้ง 6 เรื่อง รวมถึงสื่อรูปแบบอื่นๆ ที่ผลิตขึ้นในโครงการฯ เพื่อสื่อสารสร้างความตระหนักถึงการฟื้นฟูและพัฒนาเด็กปฐมวัย ให้ทันสถานการณ์ 

ติดตามรับชมสื่อวิดีโอชุด “ฟื้นฟูพัฒนาการเด็กปฐมวัย หลังโควิด-19” ทั้ง 6 เรื่อง และสามารถดาวน์โหลดสื่อฟื้นฟูพัฒนาการเด็กปฐมวัยรูปแบบหลากหลาย อาทิ e-book, Infographic บทความ เอกสารวิชาการ และรับชมคลิปวิดีโออื่นๆ ได้ที่ https://ecd-covidrecovery.rlg-ef.com/  

Tags

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า